ทนายคดีแรงงานต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

คดีแรงงาน เป็นคดีที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั่วไป เป็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเกี่ยวกับสิทธิของนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งข้อขัดแย้งดังกล่าวย่อมมีความละเอียดอ่อนต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลชำนัญเฉพาะ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจในปัญหาแรงงานร่วมกับผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ทั้งการดำเนินคดีก็เป็นไปโดยสะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม ที่สำคัญไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมศาล เพื่อให้คู่ความมีโอกาสไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ ปรับความเข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกันโดยไม่เกิดความรู้สึกเป็นอริต่อกัน ซึ่งศาลแรงงานใช้ระบบไต่สวน จึงได้ยกเว้นตัดขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหลายกรณีออกไปเพื่อให้เกิดการคล่องตัวในการพิจารณาคดียิ่งขึ้น

ดังนั้น การว่าความในคดีแรงงานทนายความหรือนักกฎหมายต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในตัวบทกฎหมายหลายฉบับทีเดียว ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541  ตลอดจนต้องมีความรู้กฎหมายแพ่ง อาญา นิติกรรมสัญญาอย่างถ่องแท้เพียงพอ  ทั้งคดีแรงงานเป็นคดีที่ต้องใช้การไกล่เกลี่ย ประนีประนอม รอมชอมเป็นหลัก นักกฎหมายหรือทนายความนอกจากจะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเฉพาะทางแล้วยังต้องมีบุคลิกภาพที่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนมีทักษะเรื่องการเจรจาพาที มีจิตทยาในการพูดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จความปรองดองได้ จะยึดถือเอาแต่ความคิดตัวเองไม่ได้

บทความโดย: อาจารย์พิพัชร์สร เสนาธรรมรักษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและพัฒนาองค์กร